ไส้เดือนฝอย
คุณผู้ฟังที่รักทุกท่านค่ะ เมื่อดิฉันเอ่ยคำว่า "ไส้เดือนฝอย"คุณผู้ฟังคงจะนึกภาพออกนะค่ะว่า มันคือสัตว์ที่มีขนาดเล็กมาก มีรูปร่างกลมยาวและไม่มีอวัยวะประดับภายนอกใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ขน เขา แขน ขา หรือแม้แต่ปีก และสิ่งที่คุณผู้ฟังจะต้องนึกออกต่อไปก็คือ มันจะต้องมีลักษณะคล้ายกับไส้เดือน
ถูกต้องแล้วละค่ะ ไส้เดือนฝอย จะมีรูปร่างลักษณะคล้ายกับไส้เดือน แต่จะมีขนาดของลำตัวเล็กกว่ามาก จนบางครั้งต้องส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์นะค่ะจึงจะเห็น ไส้เดือนฝอยแม้ว่าจะมีรูปร่างที่ไม่มีอะไรดึงดูดให้น่าสนใจ หรือมีคุณค่าทางด้านโภชนาการเลย แต่ในไส้เดือนฝอยนี้มีสิ่งที่น่าสนใจจนทำให้เราต้องสนใจศึกษาในทางการเกษตรนั้นก็เนื่องมาจากสาเหตุ 2 ประการคือ
ประการแรก ไส้เดือนฝอยชนิดที่เป็นศัตรูพืช และเป็นสาเหตุให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงและเสียหาย เราจึงต้องทำการศึกษาเพื่อหาแนวทางในการป้องกันกำจัด จนกระทั่งได้ถูกจัดเป็นวิชาการแขนงหนึ่งของการศึกษาทางด้านโรคพืช
ประการที่สอง ไส้เดือนฝอยชนิดที่เป็นศัตรูแมลงนั้นสามารถทำให้แมลงอ่อนแอและตายได้ เราจึงได้มีการศึกษา และหาวิธีการในการนำไส้เดือนฝอยชนิดนี้มาใช้ประโยชน์ในการควบคุมแมลงศัตรูพืช สำหรับวิชาการแขยงนี้ ในประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มมีการศึกษาวิจัย และนำมาใช้ประโยชน์โดยกรมวิชาการเกษตร เมื่อประมาณ 5-6ปี มานี้เองนะคะ จนในปัจจุบันนี้ก็ได้รับความสนใจมากขึ้นในวงการเกษตร ทั้งนี้เป็นเพราะ ในปัจจุบันการใช้สารเคมีทางการเกษตรกำลังถูกเฝ้ามองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมลพิษในสิ่งแวดล้อม ปัญหาของแมลงพืชหลายชนิดสร้างความต้านทานต่อสารฆ่าแมลง ปัญหาการปนเปื้อนของสารเคมีในพืชผลเกษตรจึงมีการค้นคว้าหาสิ่งที่จะสามารถนำมาสใช้ทดแทนสารเคมีฆ่าแมลงได
ไส้เดือนฝอยที่มีความสามารถในการควบคุม แมลงศัตรูพืช ซึ่งทางกรมวิชาการเกษตรได้ศึกษาวิจัย และพัฒนานำมาใช้ประโยชน์นั้น เป็นไส้เดือนฝอยที่จัดอยู่ในวงศ์ สเตนเนอนีมาติตี้ (Steinernematidae) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า สเตนเนอนีมา คาร์โปแคบซี ( Steinernemacarpocapsae) ไส้เดือนฝอยชนิดนี้ลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากไส้เดือนฝอยชนิดอื่น ๆ ตรงที่ไส้เดือนฝอยชนิดนี้โดยธรรมชาติจะดำรงชีวิตอยู่รวมกับแบคทีเรียชนิดหนึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ซีนอร์ฮับดัส นีมาโนฟิลัส (Xenorhabdus nematophilus) โดยที่แบคทีเรียชนิดนี้จะอาศัยอยู่ในส่วนของลำไส้ของไส้เดือนฝอย และแบคทีเรียตัวนี้จะมีความสำคัญต่อการขยายพันธุ์ของไส้เดือนฝอย ก็ต่อเมื่อมันเข้าไปอยู่ในตัวหนอนของแมลงศัตรูพืชเท่านั้น
ไส้เดือนฝอยชนิดนี้ที่เป็นศัตรูแมลง ซึ่งเป็นแมลงศัตรูพืชนี้ จะมีวงจรชีวิตเหมือนไส้เดือนฝอยอื่น ๆ ทั่วๆ ไป คือในวงจรชีวิตจะประกอบด้วยระยะไข่ ระยะตัวอ่อนซึ่งแบ่งเป็น 4 ระยะ โดยการลอกคราบไปจนกระทั่งถึงตัวเต็มวัย จะมีขนาด 1-5 มิลลิเมตร และมี 2 เพสแยกจากกันไส้เดือนฝอยตัวอ่อน ในระยะ 3 จะมีขนาดลำตัว 0.5 มิลลิเมตร และไส้เดือนฝอยในระยะ 3 นี้ จัดเป็นระยะที่สำคัญในการเข้าทำลายหนอนแมลงศัตรูพืช และเป็นวัยที่ไส้เดือนฝอยมีความแข็งแรง คือ จะมีผนังลำตัวหนากว่าวัยอื่น ๆ ไส้เดือนฝอยชนิดนี้ จะเข้าสู่ตัวแมลงศัตรูพืช โดยเข้าทางปากเป็นส่วนใหญ่หรืออาจจะเข้าโดยทางทวารและรูหายใจของเมลงศัตรูพืช จากนั้นก็จะชอนใชเข้าสู่กระแสเลือดและเจริญเติบโตในตัวแมลง ในขณะเดียวกันก็จะขัยถ่ายเอาแบคทีเรีย ที่ติดอยู่ที่ลำไส้ออกมา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้แมลงตายภายในเวลา 24 ชม. (ที่อุณหภูมิ 30C) ทั้งนี้เพราะเลือดเป็นพิษส่วนไส้เดือนฝอยจะเจริญเติบโตต่อไปจนกลายเป็นตัวเต็มวันภายใน 3 วัน และจะขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนอยู่ในซากหนอน จนกระทั่งอาหารในตัวหนอนนั้นหมดจึงจะออกหาแหล่งอาหารใหม่ต่อไปวงจรทั้งหมดนี้จะใช้เวลาเพียงประมาณ 8 วัน และอาจจะยืดออกไปอีก ถ้าอุณหภูมิลดต่ำลงไส้เดือนฝอยเพสเมียขนาดที่ใหญ่ที่สุดสามารถออกไข่ได้เป็น 1,000 ฟอง
งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม
ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
โทร. (074) 211030-49 ต่อ 2370 ต่อ 14,212849 ต่อ 14 แฟกซ์ (074) 558803
วันที่เขียนบทความ: 15 มีนาคม 2555 เวลา: 10:18:49 น.
วันที่ปรับปรุงบทความ: 14 ตุลาคม 2555 เวลา: 13:41:06 น.
กลับหน้าบทความ