l เข้าสู่ระบบ l สมัครสมาชิก | ช่วยเหลือ l

นัด24ออนช๊อป
ร้าน ใจชนะ เซอร์วิส
หน้าร้านค้า       บทความ       วิธีชำระเงิน       เกี่ยวกับเรา / ติดต่อเรา      

พระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษ ประวัติพิธีการสร้างและปลุกเสก ครั้งยิ่งใหญ่


พระเครื่องที่มีพิธีกรรมปลุกเสกครั้งยิ่งใหญ่ในเมืองไทย วงการพระจักต้องจารึกพระราชพิธีที่สำคัญยิ่งไว้ในครั้งนั้น ได้แก่ พิธีพุทธาภิเษก หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า 25 พุทธศตวรรษ ซึ่งพิธีนี้ปลุกเสกที่พระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวรารามวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานครนี่เอง และนับเป็นพิธีมหาพุทธาภิเษกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นพระเครื่องที่ทางการได้จัดสร้างขึ้นเพื่อนำเงินรายได้จัดสร้างพุทธมณฑลที่ตำบลศาลายา และบูรณปฏิสังขรณ์ปูชนียสถานที่สำคัญๆ ในทางพุทธศาสนาของเรา นับเป็นการสร้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และถูกต้องครบถ้วนตามพิธีทางศาสนา ทำการปลุกเสกโดยพระคณาจารย์ที่มีชื่อ 108 องค์ ซึ่งทางการได้คัดเลือกมาจาก ทั่วราชอาณาจักร เป็นพระเครื่องที่มีพุทธานุภาพและปาฏิหาริย์หลายอย่างแก่ผู้มีไว้ในครอบครอง

พระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ มีด้วยกัน 3 ชนิด คือ

1.พระเครื่องเนื้อทองคำแท้ สร้างเพียง 2,500 องค์
2.พระเครื่องเนื้อชิน สร้างเพียง 2,421,250 องค์
3.พระเครื่องเนื้อดิน สร้างเพียง 2,421,250 องค์
4.พระเครื่องชนิดเหรียญนิกเกิล สร้างเพียง 2,000,000 เหรียญ

อนึ่ง นอกจากนี้ก็มีพิมพ์พิเศษ ซึ่ง พล.ต.ต.เนื่อง อาขุบุตร หนึ่งในกรรมการดำเนินงานได้สร้างขึ้นเป็นพิมพ์สี่เหลี่ยม พระชุดนี้ พล.ต.ต.เนื่อง อาขุบุตร ได้นำเข้าพิธีพร้อมกับพระเนื้อชินและเนื้อดิน เมื่อเสร็จพิธีแล้วได้แจกให้กับกรรมการที่มีส่วนในการจัดงานให้ลุล่วงไปด้วยดีคนละหนึ่งองค์ หากผู้ใดจะเช่าบูชานั้นจะสมนาคุณรายที่เช่าบูชาพระเนื้อดินหรือชินพร้อมกันครั้งละ 100 องค์

สำหรับพระเนื้อชินและเนื้อดินนั้นมีส่วนผสมที่น่าสนใจมาก คือ พระเนื้อชิน ที่ประกอบด้วยมวลสารของโลหะหลายอย่างเช่น พลวง, ดีบุก, ตะกั่วดำ และ แผ่นเงิน, ทองแดง ที่พระคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณทั่วประเทศทำการลงอักขระยันต์มาแล้ว ยังมีชนวน หล่อพระในพิธีอื่นๆ พร้อมผงตะไบ “พระกริ่งนวโลหะ” ทั้งของ สมเด็จพระสังฆราชแพ และ ท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์) วัดสุทัศน์ มาเป็นชนวนในการสร้างที่มากถึง 2,421,250 องค์

ส่วน พระเนื้อดินผสมผงเกสร ก็มีมวลสารที่ประกอบด้วยดินจาก ทะเลสาบสงขลาเกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา เป็นส่วนผสมหลัก เนื่องจากดินที่เกาะยอเนื้อละเอียดมีลายเป็นพรายน้ำในตัวและมีสีเหลืองนวลคล้าย พระซุ้มกอ, พระลีลาเม็ดขนุน โดยนำมาผสมกับผงเกสรดอกไม้ 108 ชนิด แล้วยังมีว่านต่างๆ พร้อมดินหน้าพระอุโบสถ, ดินหน้าพระอารามสำคัญของแต่ละจังหวัด และดินจากบริเวณที่ประดิษฐานพระประธานพุทธมณฑล รวมทั้งดินจากสังเวชนียสถาน 4 ตำบล (ประสูติ-ตรัสรู้-ปฐมเทศนา-ปรินิพพาน) จากประเทศอินเดีย โดยมีผงพุทธคุณจากพระคณาจารย์ 108 รูป ผงพระเครื่องที่ชำรุด เช่น พระสมเด็จวัดระฆัง, พระรอด, นางพญา, ผงสุพรรณ, ซุ้มกอ, กำแพงลีลาเม็ดขนุน, ขุนแผนบ้านกร่าง ฯลฯ รวมทั้ง ผงตะไบพระกริ่งนวโลหะ ของ สมเด็จพระสังฆราชแพ, เจ้าคุณศรี (สนธิ์) วัดสุทัศน์ ดังกล่าวข้างต้น

เนื่องจากการสร้างพระ 25 พุทธศตวรรษ เนื้อดินผสมผง ตั้งโรงงานสร้างขึ้นในบริเวณวัดสุทัศน์ พระเนื้อดินผสมผงก็สร้างด้วยจำนวนมากเท่ากับเนื้อชิน คือ 2,421,250 องค์ ซึ่งพอสร้างเสร็จและนำเข้าเตาเผาก็จะปรากฏเป็นสีที่แตกต่างกัน เช่น ดำ, น้ำตาลไหม้, เทา, เขียว, ขาวนวล, พิกุลแห้ง, หม้อใหม่, ครีม, ชมพู รวมทั้ง เนื้อสองสี (ที่เรียกว่า เนื้อผ่าน) และหากตั้งข้อสังเกตจะเห็นได้ว่าสีขององค์พระจะคล้ายกับพระที่สร้างในยุคโบราณ ทั้ง พระรอด, พระคง, พระเปิม และ พระบาง รวมทั้งพระเนื้อดินเผาสกุล นางกำแพง, ผงสุพรรณ และพระกรุของเมือง อยุธยา เป็นต้น

ประธานฝ่ายสงฆ์ของพิธีกรรม คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศมหาวิหาร ประธานฝ่ายฆราวาส จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ประธานฝ่ายจัดสร้างพระพิมพ์ รองประธานฝ่ายจัดสร้างได้แก่ พลตำรวจตรี เนื่อง อาขุบุตร ท่านได้เป็นกรรมการจัดจำหน่ายให้สาธุชนและผู้มีเกียรติทั้งหลายเช่าบูชาไปสักการะ หรือนำติดตัวเพื่อป้องกันอุบัติเหตุร้ายได้อีกด้วย

พิธีกรรม การทำพิธีพุทธาภิเษกปลุกเสกพระเครื่อง ได้นิมนต์พระคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิมาทำพิธีถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกนำสิ่งของที่จะสร้างมาทำพิธีพุทธาภิเษกปลุกเสกเสียก่อนครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2500 ณ พระอุโบสถวัดสุทัศน์ มีพระคณาจารย์มาทำพิธีครบ 108 องค์ ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2500 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ได้ทรงพระกรุณาเททอง หล่อพระทองคำ แล้วทรงพิมพ์พระเนื้อดินและชนิดเนื้อชินเป็นปฐมฤกษ์ แต่วันนั้นได้สร้างในบริเวณวัดสุทัศน์เป็นเวลาถึง 3 เดือนเศษจึงแล้วเสร็จ ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2500 ได้ทำพระเครื่องทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวแล้ว เข้าพิธีพุทธาภิเษกอีกครั้งเป็นระยะเวลา 3 วัน 3 คืน รวมเวลาทำพิธีพุทธาภิเษก 2 ครั้ง 6 วัน 6 คืน มีพระเกจิอาจารย์ที่ทางการ ร่วมอาราธนามาปลุกเสก 108 องค์

รายนามพระอาจารย์ปลุกเสกพระเครื่องในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ซึ่งได้สร้างเสร็จสิ้นแล้ว ณ พระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวรารามมหาวิหาร เมื่อวันที่ 2-3 และ 4 พฤษภาคม 2500 รวม 3 วัน มีดังนี้คือ

1. พระครูอาคมสุนทร วัดสุทัศน์ กทม.
2. พระครูสุนทรสมาธิวัตร วัดสุทัศน์ กทม.
3. พระครูญาณาภิรัต วัดสุทัศน์ กทม.
4. พระครูพิบูลย์บรรณวัตร วัดสุทัศน์ กทม.
5. พระครูสุนทรศีลาจารย์ วัดสุทัศน์ กทม.
6. พระครูพิศาลสรกิจ วัดสุทัศน์ กทม.
7. พระมหาสวน วัดสุทัศน์ กทม.
8. พระมหาอำนวย วัดสุทัศน์ กทม.
9. พระปลัดสุพจน์ วัดสุทัศน์ กทม.
10. พระครูวิสิษฐ์วิหารการ วัดชนะสงคราม กทม.
11. พระสุธรรมธีรคุณ (วงษ์) วัดสระเกศ กทม.
12. พระอาจารย์สา วัดราชนัดดาราม กทม.
13. พระปลัดแพง วัดมหาธาตุ กทม.
15. พระวรเวทย์คุณาจารย์ วัดพระเชตุพน กทม.
16. พระครูฐาปนกิจประสาท วัดพระเชตุพน กทม.
17. พระอินทรสมาจารย์ วัดพระเชตุพน กทม.
18. พระครูวินัยธร (เฟื่อง) วัดสัมพันธวงศ์ กทม.
19. พระครูภักดิ์ วัดบึงทองหลาง กทม.
20. พระครูกัลญาณวิสุทธิ วัดดอนหวาย กทม.
21. พระอาจารย์มี วัดสวนพลู กทม.
22. พระอาจารย์เหมือน วัดโรงหีบ กทม.
23. พระหลวงวิจิตร วัดสะพานสูง กทม.
24. พระอาจารย์หุ่น วัดบางขวด กทม.
25. พระราชโมลี วัดระฆัง กทม.
26. หลวงวิชิตชโสธร วัดสันติธรรมาราม กทม.
27. พระครูโสภณกัลญานุวัตร (เส่ง) วัดกัลญาณมิตร กทม.
28. พระครูภาวนาภิรัต (ผล) วัดหนัง กทม.
29. พระครูทิวากรคุณ (กลีบ) วัดตลิ่งชัน กทม.
30. พระครูไพโรจน์วุฒิคุณ (ไพฑูรย์) วัดโพธินิมิตร กทม.
31. พระครูญาณสิทธิ์ วัดราชสิทธาราม กทม.
32. พระอาจารย์มา วัดราชสิทธาราม กทม.
33. พระอาจารย์หวน วัดพิกุล กทม.
34. พระมหาธีรวัฒน์ วัดปากน้ำ กทม.
35. พระอาจารย์จ้าย วัดปากน้ำ กทม.
36. พระอาจารย์อินทร์ วัดปากน้ำ กทม.
37. พระครูกิจจาภิรมย์ วัดอรุณราชวราราม กทม.
38. พระครูวินัยสังวร วัดประยุรวงศาวาส กทม.
39. พระสุขุมธรรมาจารย์ วัดหงษ์รัตนาราม กทม.
40. พระครูพรหมวินิต วัดหงษ์รัตนาราม กทม.
41. พระอาจารย์อิน วัดสุวรรณอุบาสิการ กทม.
42. พระครูวิริยกิจ (โต๊ะ) วัดประดู่ฉิมพลี กทม.
43. พระปรีชานนทมุนี (ช่วง) วัดโมลี นนทบุรี
44. พระครูปลัดแฉ่ง (หลวงพ่อแฉ่ง) วัดศรีรัตนาราม นนทบุรี
45. พระปลัดยัง (หลวงพ่อยัง) วัดบางจาก นนทบุรี
46. พระอาจารย์สมจิต วัดป่ากะเหรี่ยง ราชบุรี
47. พระอาจารย์แทน วัดธรรมเสน ราชบุรี,
48. พระครูบิน วัดแก้ว ราชบุรี
49. พระอินท์เขมาจารย์ วัดช่องลม ราชบุรี
50. พระธรรมวาทีคณาจารย์ (เงิน) วัดดอนยายหอม นครปฐม
51. พระครูสังฆวิชัย วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม
52. พระอาจารย์สำเนียง วัดเวฬุวัน นครปฐม
53. พระอาจารย์เต๋ วัดสามง่าม นครปฐม
54. พระอาจารย์แปลก วัดสระบัว ปทุมธานี
55. พระครูปลัดทุ่ง วัดเทียนถวาย ปทุมธานี
56. พระครูบวรธรรมกิจ (เทียน) วัดโบสถ์ ปทุมธานี
57. พระครูโสภณสมาจารย์ (เหรียญ) วัดหนองบัว กาญจนบุรี
58. พระครูวิสุทธิรังษี วัดเหนือ กาญจนบุรี
59. พระมุจลินท์โมฬี (ดำ) วัดมุจลินท์ ปัตตานี
60. พระครูรอด วัดประดู่ นครศรีธรรมราช
61. พระครูวิศิษฐ์อรรถการ (คล้าย) วัดสวนขัน นครศรีธรรมราช
62. พระครูสิทธิธรรมาจารย์ (พระอาจารย์ลี) วัดอโศการาม สมุทรปราการ
63. พระอาจารย์บุตร วัดใหม่บางปลากด สมุทรปราการ
64. พระอาจารย์แสวง วัดกลางสวน สมุทรปราการ
65. พระครูศิริสรคุณ (แดง) วัดท้ายหาด สมุทรสงคราม
66. พระครูสมุทรสุนทร วัดพวงมาลัย สมุทรสงคราม
67. พระสุทธิสารวุฒาจารย์ (ใจ) วัดเสด็จ สมุทรสงคราม
68. พระอาจารย์อ๊วง วัดบางคณที สมุทรสงคราม
69. พระครูไพโรจน์วุฒาจารย์ (รุ่ง) วัดท่ากระบือ สมุทรสาคร
70. พระครูวิเศษสมุทรคุณ (ฮะ) วัดดอนไก่ดี สมุทรสาคร
71. พระครูลักขิตวันมุนี (ถิร) วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรี
72. พระอาจารย์แต้ม วัดพระลอย สุพรรณบุรี
73. พระครูโฆษิตธรรมสาร (ครื้น) วัดสังโฆ สุพรรณบุรี
74. พระครูวรกิจวินิจฉัย (พริ้ง) วัดวรจันทร์ สุพรรณบุรี
75. พระครูสัมฤทธิ์ วัดอู่ทอง สุพรรณบุรี
76. พระวรพจน์ปัญญาจารย์ (เฮี้ยง) วัดอรัญญิการาม ชลบุรี
77. พระครูธรรมาวุฒิคุณ วัดเสม็ด ชลบุรี
78. พระครูธรรมธร (หลาย) วัดราษฎร์บำรุง ชลบุรี
79. พระอาจารย์บุญมี วัดโพธิ์สัมพันธ์ ชลบุรี
80. พระพรหมนคราจารย์ วัดแจ้งพรหมนคร สิงห์บุรี
81. พระครูศรีพรหมโศภิต (แพ) วัดพิกุลทอง สิงห์บุรี
82. พระชัยนาทมุนี วัดบรมธาตุ ชัยนาท
83. พระอาจารย์หอม (หลวงพ่อหอม) วัดชากหมาก ระยอง
84. พระอาจารย์เมือง วัดท่าแพ ลำปาง
85. พระครูอุทัยธรรมธารี วัดท้าวอู่ทอง ปราจีนบุรี
86. พระครูวิมลศีลาจารย์ วัดศรีประจันตคาม ปราจีนบุรี
87. พระครูสุนทรธรรมประกาศ วัดโพธิ์ปากพลี นครนายก
88. พระครูบาวัง วัดบ้านเด่น ตาก
89. พระครูสวรรควิริยกิจ วัดสวรรคนิเวศ แพร่
90. พระครูจันทร์ (หลวงพ่อจันทร์) วัดคลองระนง นครสวรรค์
91. พระครูศีลกิติคุณ (อั้น) วัดพระญาติการาม อยุธยา
92. พระอาจารย์แจ่ม วัดวังแดงเหนือ อยุธยา
93. พระครูเล็ก วัดบางนมโค อยุธยา
94. พระอาจารย์มี วัดอินทราราม อยุธยา
95. พระอาจารย์หวาน วัดดอกไม้ อยุธยา
96. พระอาจารย์หน่าย วัดบ้านแจ้ง อยุธยา
97. พระครูประสาทวิทยาคม (นอ) วัดกลางท่าเรือ อยุธยา
98. พระอาจารย์จง (หลวงพ่อจง) วัดหน้าต่างนอก อยุธยา
99. พระอธิการเจาะ วัดประตูโลกเชษฐ์ อยุธยา
100. พระอาจารย์ศรี วัดสระแก อยุธยา
101. พระสุวรรณมุนี วัดมหาธาตุ เพชรบุรี
102. พระครูสุข วัดโตนดหลวง เพชรบุรี
103. พระครูพิบูลย์ศีลาจารย์ วัดโพธิ์กรุ เพชรบุรี
104. พระครูทม (หลวงพ่อทม) วัดสว่างอรุณ เพชรบูรณ์
105. พระสวรรควรนายก วัดสวรรคาราม สุโขทัย
106. พระโบราณวัตถาจารย์ วัดราชธานี สุโขทัย
107. พระครูบี้ วัดกิ่งลานหอย สุโขทัย
108. พระครูวิบูลย์สมุทรกิจ วัดเสด็จ สมุทรสงคราม




รายละเอียดเพิ่มเติม : 2 
ลงวันที่ อา. 13 มีนาคม 2554 12:18 
อภินิหารพระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ ปืนเอ็ม 16 กระหน่ำยิง 30 นัด ไม่ระคายผิว

พระเครื่องราคาสูงหลัก “แสน” หรือหลัก “ล้าน” ก็ไม่แน่เสมอไปว่าจะ “เข้มขลังตามมูลค่า” ขณะที่ราคาพระเครื่องหลัก “ร้อย” หรือหลัก “พัน” อาจมีพุทธานุภาพสูงส่งก็ได้เพราะไม่มีอะไรเป็นเครื่องวัดได้ ซึ่งผิดกับความร้อน-หนาวที่วัดได้ด้วย “เทอร์โมมิเตอร์” แต่สิ่งเดียวที่พอจะวัดได้ก็คือ “ประสบการณ์” เพราะเป็น “ปรากฏการณ์” ให้พบเห็นทั้งในอดีตและปัจจุบันอยู่เสมอ “เหนือลิขิต ประกาศิตฟ้าดิน” ฉบับนี้จึงขอนำท่านผู้ อ่าน “อ่านความจริง...อ่านเดลินิวส์” ย้อนกลับไปพบกับข่าวหนึ่งบนหน้าหนังสือพิมพ์ “เดลินิวส์” ที่ได้บันทึกเหตุการณ์เป็นข่าวที่สุดตื่นเต้นเป็นการพิสูจน์ถึงอภินิหารของ “พระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษ” ที่ปัจจุบันยังมีให้บูชาในราคาไม่สูงเกินไปนัก

โดยหนังสือพิมพ์ “เดลินิวส์ ฉบับที่ ๙,๔๗๐ ประจำวันศุกร์ที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๘” ได้เสนอข่าวถึงเรื่องราวปาฏิหาริย์ของ “พระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษ” ที่มีรายงานข่าวจาก จังหวัดพัทลุง ว่าเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๑๘ เวลา ๐๔.๓๐ น. นายสืบศักดิ์ แกล้วทนง อายุ ๒๓ ปี บ้านอยู่หมู่ที่ ๒ ต.ป่าพยอม อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์กลับจากดูโขนสดและภาพยนตร์ที่ วัดป่าพยอม เพื่อกลับบ้าน ขณะขับขี่ไปถึง ตลาดป่าพยอม เกิดไปเฉี่ยวเอาราษฎรหน่วยปฏิบัติการพิเศษ “ชุดล่าสังหาร” ผู้หนึ่งที่ทาง “ทหาร ผส.๕ ค่ายเสนาณรงค์ อ.หาดใหญ่” มาจัดตั้งหน่วยขึ้นที่ ต.ป่าพยอม อ.ควนขนุน

เพื่อทำหน้าที่ปราบปรามผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งกำลังเดินกลับ เข้าค่าย จำนวน ๔ คน ราษฎรหน่วยปฏิบัติการพิเศษ “ชุดล่าสังหาร” ผู้ที่ถูก “นายสืบศักดิ์” ขับรถเฉี่ยวจึงตะโกนบอกให้ “นายสืบศักดิ์” หยุดรถแต่ “นายสืบศักดิ์” เป็น “คนหูหนวก” จึงไม่ได้ยินเลยไม่หยุดรถ “หน่วยล่าสังหาร” ผู้นั้นจึงรัว “ปืนเอ็ม ๑๖” เข้าใส่ “นายสืบศักดิ์” ที่ยังขับรถทั้งหมด ๓๐ นัด กระสุนปืนพุ่งเข้าหา “นายสืบศักดิ์” เต็มแผ่นหลังจนตกลงจากรถจักรยานยนต์ หน่วยล่าสังหารทั้ง ๔ นายจึงกรูเข้าไปดูกลับเห็น “นายสืบศักดิ์” ปราศจากบาดแผลเนื่องจาก “กระสุนปืนเอ็ม ๑๖” ที่ยิงใส่นายสืบศักดิ์ไม่ระคายผิวเลย “หน่วยล่าสังหาร” ทั้ง ๔ นายจึงช่วยกันหักคอ “นายสืบศักดิ์” จนตายคามือแล้วพากันหลบหนีไป

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการชันสูตรศพ จึงพบว่าแผ่นหลังของ “นายสืบศักดิ์” ถูกกระสุนปืนเอ็ม ๑๖ หลายนัดแต่กระสุนไม่ทะลุ มีเพียง “รอยไหม้เกรียม” ที่เกิดจากพิษกระสุนปรากฏเป็นจุด ๆ เท่านั้น ส่วนเหตุที่เสียชีวิตก็เพราะกระดูกบริเวณแผ่นหลังและที่ลำคอของ “นายสืบศักดิ์” หักหลายชิ้นเจ้าหน้าที่ค้นในตัวศพจึงพบว่าหนุ่มใบ้ผู้เสียชีวิตมีเพียง “พระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษ ๑ องค์” เท่านั้นซึ่งเป็นพระเครื่องที่จัดสร้างขึ้นเมื่อคราวมีงานฉลอง “๒๕ พุทธศตวรรษ” ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งครั้งนั้นรัฐบาลได้จัดตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อดำเนินงานเกี่ยวกับการสร้างพระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษ สำหรับเป็นที่ระลึกและแจกจ่ายสมนาคุณให้แก่ประชาชน ผู้ที่มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินสมทบทุนในการสร้าง “พุทธมณฑล” โดย “พระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษ” ที่จัดสร้างขึ้นในครั้งนั้นมีรายการและรายละเอียดดังนี้

๑. เนื้อชิน พุทธลักษณะเป็นรูปองค์พระปฏิมากรแบบนูน เป็นพระที่สร้างขึ้นด้วยเครื่องปั๊มขนาดความกว้าง ๑.๘ ซม. สูง ๔.๗ ซม. หนา ๒ มม. วัสดุที่สร้างมีส่วนผสมต่าง ๆ ดังนี้ “พลวง, ดีบุก, ตะกั่วดำ, เนื้อนวโลหะ” และ “แผ่นทองแดง, แผ่นตะกั่ว, แผ่นเงิน” ที่พระอาจารย์ต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรทำการลงอักขระเลขยันต์ และคาถาต่าง ๆ แล้วนำมาผสมหล่อหลอมเข้าด้วยกันโดยมีจำนวนสร้าง ๒,๔๒๑,๒๕๐ องค์

๒. เนื้อดิน พุทธลักษณะเป็นรูปองค์พระปฏิมากรแบบนูน สร้างขึ้นด้วยเครื่องปั๊มมีด้วยกัน ๒ พิมพ์คือ “พิมพ์เขื่อง” มีขนาดกว้าง ๑.๖ ซม. สูง ๔.๒ ซม. หนา ๖ มม. “พิมพ์ย่อม” มีขนาดกว้าง ๑.๔ ซม. สูง ๓.๙ ซม. หนา ๔ มม. วัสดุที่ใช้สร้างเป็น “เนื้อดิน” ทั้ง ๒ พิมพ์โดยนำดินที่ขุดจาก ทะเลสาบจังหวัดสงขลา ผสมกับ เกสรดอกไม้ ๑๐๘ ชนิด ตลอดทั้งว่านและใบไม้ต่าง ๆ พร้อม ดินจากหน้าพระอุโบสถ ที่มีความสำคัญจากจังหวัดต่าง ๆ อีกทั้งดินที่นำมาจากสังเวชนียสถาน ๔ แห่ง ใน ประเทศอินเดีย นอกจากนี้ยังใช้ผงวิเศษจากพระอาจารย์ต่าง ๆ และพระเครื่องโบราณที่ชำรุดเช่น “พระสมเด็จฯ, พระขุนแผน, พระนางพญา, พระรอด” มาผสมเข้าด้วยกัน จำนวนที่สร้าง ๒,๔๒๑,๒๕๐ องค์ เช่นกันกับเนื้อชินโดยพระเครื่องเนื้อดินเผามีด้วยกันหลายสี อาทิ สีดำ, สีเทา, สีขาวนวล, สีพิกุลแห้ง, สีหม้อใหม่, สีครีม, สีชมพู, สีน้ำตาลไหม้ ฯลฯ เป็นต้น

๓. เนื้อทองคำ พุทธลักษณะเป็นรูปองค์พระพุทธปฏิมากรแบบนูน สร้างด้วยเครื่องปั๊มมีขนาดกว้าง ๑.๘ ซม. สูง ๔.๗ ซม. หนา ๒ มม. ด้านหน้าและด้านหลังพุทธลักษณะโดยทั่วไปเป็นแบบเดียวกันกับพระ “เนื้อชิน” และจำนวนสร้างเท่ากับ พ.ศ. ที่สร้างคือ ๒,๕๐๐ องค์ โดยน้ำหนักทองคำองค์ละ ๖ สลึง ทางด้านพิธีกรรมการ ปลุกเสกครั้งแรกทำการปลุกเสกสรรพวัตถุและมวลสารต่าง ๆ ก่อนที่จะได้นำมาสร้างเป็นพระโดยประกอบพิธีปลุกเสก ณ พระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืนด้วยกัน โดยในวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ เวลา ๑๖.๓๐ น. ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธานพิธี สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) สังฆนายก วัดเบญจมบพิตรฯ จุดเทียนชัยและมีพระเกจิอาจารย์ ๑๐๘ รูป นั่งปรกปลุกเสก บรรจุพุทธาคมลงในสรรพวัตถุและมวลสารต่าง ๆ จนตลอดคืน จากนั้นวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ เวลา ๑๖.๓๐ น. พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ประธานคณะกรรมการฯเป็นประธานพิธี และพระราชาคณะ ๒๕ รูป เจริญพระพุทธมนต์ พระเกจิอาจารย์ ๑๐๘ รูปนั่งปรกปลุกเสกบรรจุ พุทธาคมลงในสรรพวัตถุ และมวลสารต่าง ๆ ตลอดคืน

วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ เวลา ๑๖.๓๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมายังพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหา วิหาร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชา พระศรีศากยมุนีเสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปยังมณฑลพิธีหน้าพระอุโบสถ ทรงเททองหล่อ “พระพุทธรูปทองคำ” จำนวน ๔ องค์ และทรงกดพิมพ์พระเครื่องฯ “๒๕ พุทธศตวรรษ” เนื้อดินจำนวน ๓๐ องค์ เป็นปฐมฤกษ์แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับเข้าสู่พระอุโบสถ สมเด็จพระราชาคณะ และพระราชาคณะ ถวายอดิเรกจบแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ ส่วนพระเกจิอาจารย์ในจำนวน ๑๐๘ รูป เข้าสู่มณฑลพิธีนั่งปรกปลุกบรรจุพุทธาคมลงในสรรพวัตถุและมวลสารต่อไปจนตลอด คืน

พิธีปลุกเสกครั้งที่สองได้ทำพิธี ณ วัดสุทัศนเทพวรารามฯ หลังจากพระเครื่องทั้งหมดได้สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว เมื่อวันที่ ๒, ๓, ๔ พฤษภาคม ๒๕๐๐ เป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน ประกอบด้วยเกจิอาจารย์ชั้นนำในยุคนั้นอีก ๑๐๘ องค์ เช่น “หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม หลวงพ่อคล้าย วัดสวนขัน หลวงพ่อเทียน วัดโบสถ์ หลวงพ่อครื้น วัดสังโฆ หลวงพ่อนาค วัดระฆัง หลวงพ่อดี วัดเหนือ หลวงพ่อใจ วัดเสด็จ หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง หลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม” เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ “พระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษ” จึงจัดเป็นพระเครื่องที่ดีเยี่ยมแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันยังพอแสวงหาได้ในราคาไม่สูงมากนัก เป็นสิริมงคลล้ำค่าที่จะอาราธนาขึ้นแขวนคอได้อย่างสบายใจ (ขอบคุณข้อมูลรายนามเกจิอาจารย์จากนิตยสารลานโพธิ์).
 

วันที่เขียนบทความ: 19/12/2024 เวลา: 10:33:04 น.
วันที่ปรับปรุงบทความ: 19/12/2024 เวลา: 11:11:15 น.



กลับหน้าบทความ