ประวัติ หลวงพ่อคำ จันทโชโต วัดหน่อพุทธางกูร
ประวัติ หลวงพ่อคำ จันทโชโต วัดหน่อพุทธางกูร
วัดหน่อพุทธางกูร ตั้งอยู่ในเขต ต.พิหารแดง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี โดยอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี ประวัติความเป็นมาของวัดนี้สร้างขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ชาวบ้านเล่าลือสืบต่อกันมาว่า ชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์ เมื่อคราวกบฏเจ้าอนุวงศ์ พ.ศ.2369 ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้ และได้สร้างสำนักสงฆ์ขึ้นในบริเวณที่มีฐานพระอุโบสถเก่าอยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่สามารถสืบหาอายุได้ว่าสำนักสงฆ์นี้สร้างขึ้นเมื่อใด
ต่อมา "ขุนพระพิมุข" ข้าหลวงในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มาสร้างวัดขึ้น ให้ชื่อว่า "วัดมะขามหน่อ" จนกระทั่งในสมัย "พระครูสุวรรณวรคุณ" หรือ "หลวงพ่อคำ จันทโชโต" เป็นเจ้าอาวาสจึงได้เปลี่ยนชื่อวัดนี้เป็น "วัดหน่อพุทธางกูร"
พระอุโบสถเก่าของวัดนี้มีภาพจิตรกรรมฝาผนังซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างมา ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เนื่องจากลักษณะของฐานที่แอ่นโค้งแบบท้องเรือสำเภาอันเป็นรูปแบบที่นิยมมาก ในสมัยอยุธยาตอนปลาย จิตรกรรมของวัดนี้เขียนอยู่ภายในและภายนอกพระอุโบสถ ผู้เขียนคือ "นายคำ" ช่างหลวงที่ถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์เมื่อคราวกบฏเจ้าอนุวงศ์
ภาพจิตรกรรมที่พระอุโบสถวัดหน่อพุทธางกูรเป็นจิตรกรรมแบบไทย ภาพจิตรกรรมระบายสีแบนเรียบด้วยสีสันสดใสแล้วตัดเส้น เป็นภาพสองมิติที่ให้ความรู้สึกเพียงด้านกว้างและด้านยาว เนื้อเรื่องที่เขียนเป็นเรื่องราวในพุทธศาสนา มีทั้งทศชาติชาดก พุทธประวัติ เทพยดาต่างๆ และเรื่องราวในไตรภูมิ ซึ่งเป็นที่นิยมโดยทั่วไปในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
หลวงพ่อคำ อดีตเจ้าอาวาสวัดหน่อพุทธางกูร เป็นหนึ่งในสุดยอดคณาจารย์เมืองสุพรรณที่เชี่ยวชาญด้านแพทย์แผนโบราณมาก เป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อถิร วัดป่าเลไลยก์, หลวงพ่อปิ่น วัดหน่อพุทธางกูร, หลวงพ่อทองหยด วัดชีสุขเกษม สมัยที่มีชีวิตอยู่เป็นพระเถราจารย์ที่ชาวบ้านในตำบลนั้นรวมไปถึงชาวตลาด จังหวัดสุพรรณบุรี มีความเคารพนับถือมากองค์หนึ่ง เพราะท่านเป็นพระที่สันโดษ มักน้อย มีความเมตตาปรานีสูงยิ่ง
ท่านเกิดเมื่อวันที่ 30 พ.ค.2430 เวลา 19.19 น.โดยประมาณ ตรงกับวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุน ร.ศ.106 ณ บ้านพิหารแดง หมู่ 1 ต.พิหารแดง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ห่างจากตัวจังหวัดขึ้นไปทางทิศเหนือตามลำน้ำท่าจีนประมาณ 4 กิโลเมตร และห่างจากวัดหน่อพุทธางกูรราว 27 เส้นเศษ เป็นบุตรจีนฮั้ว แซ่ตัน หรือแซ่ตั้ง มารดาชื่อจันทร์ มีเชื้อสายเป็นชาวเวียงจันทน์
เมื่ออายุได้ไม่กี่ขวบก็ต้องกำพร้าบิดามารดา และอาศัยอยู่กับน้าชาย ชื่อทอง น้าสาวชื่อหริ่ม จนกระทั่งอายุ 16 ปีจึงบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดมะนาว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันอังคารที่ 8 เม.ย.2445 โดยได้รับความอนุเคราะห์จากพระอาจารย์คำตา และอยู่กุฏิเดียวกับพระปลัดบุญมี ซึ่งเป็นญาติกับท่าน พร้อมกับศึกษามูลกัจจายน์และอักขระขอมไทยกับขอมลาว
ต่อมาญาติของท่านชื่อพระอาจารย์บุญมา บวชอยู่ที่วัดภาวนาภิรตาราม อ.บางกอกน้อย ธนบุรี ได้ชักชวนให้ไปเรียนหนังสือต่อที่วัดแห่งนี้
"พระครูสุวรรณวรคุณ" หรือ "หลวงปู่คำ จันทโชโต" วัดหน่อพุทธางกูร ต.พิหารแดง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ท่านได้ตั้งหน้าตั้งตาศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและมูลกัจจายน์ กับหนังสือใหญ่ (หนังสือขอม) ด้วยความขยันขันแข็ง แต่ดวงของท่านต้องกลับมาอยู่บ้านเกิด เพราะเกิดเหน็บชาไม่สามารถที่จะอยู่วัดภาวนาภิตารามได้ เมื่อกลับมาอยู่วัดหน่อพุทธางกูร ไม่นานก็หายเป็นเหน็บชา เพราะได้ฉันข้าวซ้อมมือซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยวิตามินบี
เมื่ออายุ 21 ปีเต็ม ท่านได้กลับไปอุปสมบทที่วัดนะนาว เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2451 โดยมีพระครูวินยานุโยค วัดอู่ทอง เป็นอุปัชฌาย์ พระปลัดบุญมี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระช้าง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า "จันทโชโต" จากนั้นได้จำพรรษาอยู่ที่วัดมะนาวเรื่อยมา
ต่อมาพระอาจารย์บุญมา ได้กลับมาจำพรรษาและดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหน่อพุทธางกูร ในราวปีพ.ศ 2452 ได้ชักชวนให้ท่าน มาอยู่ที่วัดหน่อพุทธางกูร (วัดมะขามหน่อในขณะนั้น) เพื่อช่วยพัฒนาวัด เมื่อมาจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ ท่านได้ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัยจนมีความรู้แตกฉานยิ่งขึ้นทั้งพระธรรมวินัย และอักขระขอมไทย-ลาว ตลอดจนขนบธรรมเนียมและแบบแผนอันดีงามสืบต่อติดมาจนเป็นนิสัย จนชาวบ้านแถวนั้นต่างกล่าวขวัญว่า เป็นพระที่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยดีมาก
"พระอธิการบุญมา" กับ "หลวงพ่อคำ" ได้พยายามพัฒนาวัดหน่อพุทธางกูรเรื่อยมาจนวัดเจริญขึ้นตามลำดับ ภายหลังจากที่พระอธิการบุญมาถึงแก่มรณภาพในราวพ.ศ. 2458 คณะสงฆ์จึงแต่งตั้งให้หลวงปู่คำ รักษาการแทน เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2458 ขณะมีอายุได้ 28 ปี พรรษาที่ 8
ก่อนที่จะเป็นเจ้าอาวาสอย่างสมบูรณ์แบบเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2471 อายุได้ 41 ปี พรรษาที่ 21 ผ่านไปอีก 10 ปี ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการศึกษาเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2481 ต่อมาวันที่ 5 ธ.ค. 2498 ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรที่ "พระครูสุวรรณวรคุณ" ขณะอายุได้ 78 ปี พรรษาที่ 48
อุปนิสัยใจคอของหลวงปู่คำนั้นเยือกเย็น ถ้าใครได้ไปพบเห็นจะมีความรู้สึกเคารพนับถือขึ้นมาทันที เพราะใบหน้าท่านยิ้มแย้มแจ่มใสตลอดเวลา พูดค่อยและช้า แต่วาจาศักดิ์สิทธิ์มาก ภายในกุฏิของท่าน ของมีค่าหาได้น้อย มีหัวกะโหลกมนุษย์ตั้งอยู่ นอกนั้นเป็นสิ่งหาค่าไม่ได้วางอยู่อย่างไม่เป็นระเบียบ ท่านมีความมักน้อยในจิตใจ แต่มักใหญ่ในการก่อสร้างเสนาสนะ เช่น การสร้างพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญคอนกรีต และโรงเรียนประชาบาลจนกระทั่งมรณภาพ
ในด้านการปกครอง ท่านมีปฏิปทาในหลักธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ได้แนะนำสั่งสอนพระภิกษุสามเณร ให้ประพฤติอยู่ในระเบียบวินัยสงฆ์ โดยเฉพาะพระภิกษุสามเณรที่จำพรรษาอยู่ในวัดหน่อพุทธางกูร ไม่ว่าจะบวชนาน หรือบวช 3 เดือน จะต้องศึกษาพระธรรมวินัยและต้องสอบธรรมสนามหลวง
ใครก็ตามที่มาบวชต้องได้รับการอบรมแบบตัวต่อตัวจากท่านทุกรูป เริ่มต้นด้วยการสอนอนุศาสน์ 8 นิสสัย 4 ส่วนมากที่เฝ้าสั่งสอนด้วยใจเป็นห่วงคือ ปาราชิก 4 สอนด้วย การยกอุปมาอุปไมย นอกจากนั้น สอนสังฆาทิเสส นิสสัคคียปาจิตตีย์ ในข้อนี้ชาวพุทธทราบดีว่าหลวงปู่คำไม่ยอมหยิบเงินทองที่เขาถวาย เมื่อท่านไปไหนๆ มีเด็กลูกศิษย์ติดตามท่านไปด้วยหนึ่งคนเสมอ
เมื่อมีงานวัดหน่อพุทธางกูร ต.พิหารแดง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี "หลวงปู่คำ จันทโชโต" จะ ห้ามเด็ดขาดมิให้ภิกษุสามเณรไปเที่ยวจุ้นจ้านกับฆราวาส อ้างว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์ ถึงแม้วัดอื่นมีงาน ท่านก็ไม่อนุญาตให้ไปเที่ยว โดยได้พิมพ์กฎข้อบังคับของวัดใส่กรอบไว้ที่หอสวดมนต์
ในส่วนของวิชาอาคม เชื่อกันว่าท่านได้ไปเรียนเวทมนตร์คาถาและวิปัสสนากรรมฐานจาก หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมกับ หลวงพ่อโบ้ย วัดมะนาว พระเกจิอาจารย์ดังของเมืองสุพรรณอีกองค์หนึ่ง และมีความเชี่ยวชาญถึงขั้นเล่นแร่แปรธาตุได้
นอกจากนี้ ยังมีความรู้ในทางแพทย์โบราณ รักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วยสมุนไพร และเวทมนตร์คาถา รวมทั้งมีความเชี่ยวชาญในการดูฤกษ์ยามต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานมงคลสมรส อุปสมบท ปลูกบ้าน ขึ้นบ้านใหม่ โกนจุก จนกระทั่งปลูกยุ้งข้าว
กิจพิเศษที่พิเศษยิ่งของท่านคือ การรักษาคนที่ถูกสุนัขบ้ากัดอย่างที่เรียกกันว่า "โรคกลัวน้ำ" ความศักดิ์สิทธิ์ในตัวยาของท่านทำให้ชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่ว โดยในช่วงชีวิตของหลวงปู่คำได้ช่วยชีวิตคนที่ถูกสุนัขบ้ากัดเอาไว้หลายหมื่น คนทีเดียว
"หลวงปู่คำ" สร้างมงคลวัตถุขึ้นหลายอย่าง อาทิ รูปหล่อรุ่นแรก เนื้อทองเหลืองรมดำ ปี 2498 รุ่น 2 เนื้อทองเหลือง ปี 2504, รุ่น 3 เนื้อทองเหลืองรมดำ ปี 2511 เป็นพิมพ์เดียวกับรุ่นแรก แต่ฐานสูงกว่า และตรงฐานมีชื่อท่านอยู่ด้วย, เหรียญรุ่นแรก รูปอาร์ม เนื้อทองแดงรมดำ ปี 2498, รุ่น 2 รูปไข่ ด้านหลังพระประจำวันพุธ (วันเกิดของท่าน) เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง และเนื้อฝาบาตรรมดำ ปี 2504, รุ่น 3 รูปไข่ เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง และเนื้อฝาบาตรรมดำ ปี 2509 ด้านหลังพระประจำวัน 7 วัน, รุ่น 4 ปี 2511, รุ่น 5 ปี 2513
นอกจากนี้ ยังมีพระเครื่องเนื้อดิน เนื้อว่าน เนื้อผง และผงใบลานเผา อีกหลายพิมพ์ เช่น พระ พิมพ์นาคปรกเศียรแหลม ปี 2498, พระพิมพ์ท้าวชมพูบดี ปี 2498, พระผงสุพรรณหลังยันต์ ปี 2504, พระชินราชใหญ่-เล็ก ปี 2498, พระพิมพ์ซุ้มกอ, พิมพ์ยันต์อุ, พิมพ์นางกวัก เป็นต้น
พระเครื่อง ของท่านทุกรุ่นมีประสบการณ์ดังในด้านแคล้วคลาด ปลอดภัย ยิงไม่ออก ฟันแทงไม่เข้า ทำให้บางรุ่นหายากมาก โดยเฉพาะรูปหล่อรุ่นแรก ตอนนี้เช่าหาอยู่ที่ราคาหลักหมื่น ไม่มีคนอยากปล่อย เพราะถือว่า "มีพระหลวงพ่อคำแล้วไม่ตายโหง"
ลูกศิษย์ที่เป็นฆราวาสของท่านมีอยู่หลายคน ที่มีชื่อเสียงคือ พระเอกยอดนิยม "มิตร ชัยบัญชา" ซึ่งให้ความเคารพนับถือท่านมากครับ เมื่อครั้งที่ มิตร ชัยบัญชา เสียชีวิต ท่านได้เล่าให้ศิษย์ฟังว่า วันที่มิตรเสีย ไม่ได้ห้อยพระของท่าน ไม่งั้นคงไม่ตาย นอกจากนี้ ยังมี "สุรพล สมบัติเจริญ" ราชาเพลงลูกทุ่งไทย คนบ้านวัดไชนาวาสที่ให้ความนับถือท่าน และฝากตัวเป็นลูกศิษย์ตั้งแต่สมัยที่หลวงปู่คำยังไม่โด่งดังเลย
วาระสุดท้าย หลวงปู่คำมรณภาพเมื่อวันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ 2513 เวลา 17.43 น. ตรงกับแรม 5 ค่ำ เดือน 3 ปีระกา สิริอายุ 83 ปี โดยจัดงานพระราชทานเพลิงศพท่านเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2514 ในงานมีพระเกจิอาจารย์มากันมากมายหลายองค์ รวมทั้งลูกศิษย์ลูกหาประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธา ก็มากันล้นหลามชนิดที่ว่าแน่นศาลาวัดจนต้องลงมาอยู่ข้างล่างกันเลย แสดงให้เห็นถึงบารมีอันสูงส่งของหลวงปู่คำ
วันที่เขียนบทความ: 19/12/2024 เวลา: 13:01:14 น.
วันที่ปรับปรุงบทความ: 19/12/2024 เวลา: 12:41:57 น.
กลับหน้าบทความ