หลวงพ่อทบ ธัมมปัญโญ (พระครูวิชิตพัชราจารย์) วัดชนแดน อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์
หลวงพ่อทบ ธัมมปัญโญ (พระครูวิชิตพัชราจารย์)
ชาติภูมิ พระครูวิชิตพัชราจารย์ มีนามเดิมว่า ทบ นามสกุล ม่วงดี เกิดที่บ้าน ยางหัวลม อำเภอ เมือง จังหวัดเพชรบูรณ์
เมื่อวันศุกร์ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2424
บิดาชื่อ นายเผือก มารดาชื่อ นางอินทร์ มีพี่น้องรวมกันทั้งหมด 4 คน ได้แก่
1.นายหว่าง ม่วงดี
2.นายใบ ม่วงดี
3.นายทบ ม่วงดี (หลวงพ่อทบ)
4.นางแดง ม่วงดี
ณ ที่หมู่บ้านยางหัวลม ตำบลนายม(ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นตำบลวังชมภู) จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อ 114 ปีก่อนโน้น ยังมีครอบครัวของชาวไร่ที่มีฐานะมั่นคงอยู่ครอบครัวหนึ่ง ซึ่งก็เป็นครอบครัวของ คุณพ่อเผือก และคุณแม่อินทร์ นามสกุล ม่วงดี ซึ่งทั้งคุณพ่อเผือกและคุณแม่อินทร์ได้แต่งงานอยู่กินกันมาเป็นเวลานาน โดยมีบุตรคนหัวปีชื่อ เด็กชายหว่าง และบุตรีคนที่สองชื่อ ใบ แล้วก็ไม่ปรากฏว่าจะได้ลูกอีกเลย ตราบจนเวลาล่วงเลยผ่านไปถึงเจ็ดปี คุณแม่อินทร์จึงได้ตั้งครรภ์เป็นครั้งที่สาม เป็นธรรมดาสำหรับผู้มีบุญญาธิการ จะได้มาจุติยังโลกมนุษย์ คุณแม่อินทร์ก็เช่นกัน ขณะที่ท่านจะตั้งครรภ์เป็นครั้งที่สามนั้น ท่านฝันไปว่าได้มีผู้นำช้างเผือกมามอบให้จำนวน 1 เชือก ในฝันท่านก็ได้รับเอาไว้โดยให้เจ้าของเดิมนำไปผูกไว้กับต้นมะขามหน้าบ้าน ช้างเผือกเชือกนี้งดงามมากจริงๆ พอตื่นจากความฝันแล้ว คุณแม่อินทร์จึงปลุกคุณพ่อเผือก แล้วเล่าความฝันให้ฟัง เมื่อคุณพ่อเผือกฟังจนจบแล้ว จึงได้บอกกับคุณแม่อินทร์ว่าเป็นความฝันที่ดี และเป็นนิมิตหมายว่าจะมีผู้มีบุญญาธิการลงมาเกิด และคุณพ่อเผือกยังบอกคุณแม่อินทร์ต่อไปอีกว่าถ้าหากไม่เชื่อแล้วละก็ขอให้คอยดูกันต่อไป หลังจากนั้นอีกไม่นานคุณแม่อินทร์ก็เริ่มตั้งครรภ์ และการตั้งครรภ์ครั้งนี้ก็มีความแตกต่างจากการตั้งครรภ์ทั้งสองครั้งแรกนั้นมาก กล่าวคือ เมื่อคุณแม่อินทร์ตั้งครรภ์ครั้งก่อนๆ นั้นท่านแพ้ท้องอยากจะรับประทานของแปลกๆ เช่น อยากจะรับประทานแกงนก ผัดเผ็ดปลาไหล หรือลาบเลือดเป็นต้น แต่สำหรับครั้งที่สามนี้ ปรากฎว่าคุณแม่อินทร์ท่านรับประทานอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ไม่ได้เลย ถ้าหากว่าวันไหนท่านรับประทานอาหารที่ประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ หรือเพียงได้กลิ่นเนื้อสัตว์ วันนั้นท่านจะรู้สึกไม่สบายไปตลอดทั้งวันเริ่มต้นด้วยเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียนเป็นอย่างนี้ตลอดมาเป็นประจำ ทั้งๆ ที่ก่อนจะตั้งครรภ์คุณแม่อินทร์ก็รับประทานอาหารที่ทำมาจากเนื้อสัตว์ได้ และไม่เคยเป็นอะไรมาก่อน พอตั้งครรภ์บุตรคนที่สามก็เริ่มเป็นอย่างนี้ นับว่าแปลกมาก พอคุณแม่อินทร์ตั้งครรภ์ได้ครบกำหนด 9 เดือน ท่านก็ได้ปวดท้องอย่างแรง และได้คลอดบุตรชายที่น่ารัก น่าเอ็นดูออกมาลืมตาดูโลก เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ2424 ซึ่งตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเส็ง ในขณะที่ทารกน้อยกำลังคลอดออกมานั้น กลับมีกิริยาอาการแปลกประหลาดกว่าทารกแรกเกิดโดยทั่วๆ ไป หรืออาจะเป็นนิมิตหมายของผู้มีบุญญาธิการลงมาจุติก้ได้ กล่าวคือโดยปกติทารกแรกเกิดเวลาที่คลอดออกมาจะต้องส่วนหัวหรือส่วนเท้าโผล่ออกมาก่อน แต่ทารกน้อยบุตรชายของคุณแม่อินทร์ เวลาที่คลอดออกมากลับเอาศรีษะและเท้าโผล่ออกมาพร้อมๆ กัน เมื่อคุณพ่อเผือกและคุณแม่อินทร์เห็นบุตรชายคลอดออกมาแตกต่างจากทารกโดยทั่วไปเช่นนั้น จึงได้ตั้งชื่อบุตรชายคนใหม่ของท่านว่า “ ทบ”
ในชีวิตวัยเด็กก่อนที่จะบวชเรียนนั้น เด็กชายทบเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะดี จึงไม่ค่อยเดือดร้อนและลำบากเท่าไหร่ เด็กชายทบเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย เป็นเด็กที่ฉลาดอยู่ในโอวาทของบิดามารดา ในสมัยนั้นไม่มีโรงเรียนประชาบาล ถึงมีก็ต้องมีในเมืองใหญ่ๆ พ่อแม่ผู้ปกครองท่านใดต้องการที่จะให้ลูกหลานเรียนหนังสือก็ต้องนำเอาลูกหลานไปฝากไว้ที่วัด เพื่อให้พระผู้ที่มีวิชาความรู้ได้ฝึกสอนการเขียน
การอ่านตัวหนังสือไทย อักขระขอม และคณิตศาสตร์ เท่าที่จำเป็นต้องใช้ในสมัยนั้น เด็กชายทบก็เช่นกัน พออายุได้ 10 ขวบ คุณพ่อเผือกก็ได้นำไปฝากไว้ที่วัดช้างเผือก เพื่อให้เรียนหนังสือไทย
หนังสือขอม พร้อมกับคณิตศาสตร์ ซึ่งเด็กชายทบ ก็ไม่ทำให้คุณพ่อเผือกเสียชื่อ ทั้งเขียน ทั้งอ่านได้คล่องแคล่วกว่าเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน จนได้รับคำชมเชยจาก หลวงตากี ซึ่งเป็นครูสอนเด็กชาวบ้านในขณะนั้นว่า เป็นเด็กฉลาดว่านอนสอนง่าย เติบใหญ่ไปภายหน้าจะได้ดีกว่าคนอื่นๆ อุปนิสัยของหลวงพ่อทบ ท่านเป็นคนมีเมตตา เยือกเย็น สุขุม ปรานีต่อสัตว์ทั้งปวง ดังจะเห็นได้จากเรื่องนี้ ก่อนที่หลวงพ่อทบจะออกบวชนั้น แถวนายมเมื่อประมาณหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมายังเรียกว่าเป็นป่าดงดิบ มีแต่ป่าไม้ สัตว์ป่าชนิดต่างๆ ชุกชุมมาก ในสมัยนั้นชาวนาชนบทต้องดำรงชีวิตด้วยอาหารจากป่าเป็นส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นหน่อไม้ หัวเผือก หัวมัน ผลไม้ชนิดต่างๆ ป่าไม้ไม่ถูกทำลาย มนุษย์ก็ยังมีไม่มากเหมือนปัจจุบัน ทุกอย่างอุดมสมบูรณ์ไปหมด ถ้าหากว่าออกไปหาอาหารเพียงชั่วครู่ก็จะได้อาหารติดมือมาทำกับข้าวทันที
คนในสมัยก่อนโน้นฝากปากฝากท้องไว้กับธรรมชาติ คือป่าเขาลำเนาไพร ซึ่งผิดกับคนในสมัยนี้อย่างลิบลับที่ฝากปากฝากท้องไว้กับร้านอาหาร ดูมันง่ายและสะดวกดีภายในครอบครัวของหลวงพ่อทบก็เช่น
กัน บิดามารดากับคนงานที่จ้างมาทำไร่ ก็มักจะออกหาอาหารในป่าเป็นประจำ และที่ชอบหากันบ่อยก็ได้แก่ ไก่ป่า นกเขา นกคุ่ม เป็นต้น บางทีก็ลงหาตามแม่น้ำลำคลอง ซึ่งที่ได้เป็นประจำคือปลา หอย กบ เขียด เป็นต้น เมื่อหามาได้เป็นจำนวนมาก ก็จะแบ่งให้ญาติพี่น้องเอาไปกินบ้าง ที่เหลือก็จะขังเอาไว้ทำอาหารมื้อต่อไป เด็กชายทบเมื่ออยู่บ้านเห็นพ่อกักขังสัตว์เหล่านี้ไว้ ก็เกิดความสงสารจึงนำสัตว์เหล่านั้น แอบไปปล่อยเข้าป่า แต่ถ้าเป็นปลา กบ เขียด ก็จะนำไปปล่อยตามแม่น้ำ หนอง บึง ต่อไป เมื่อบิดากลับมาจากงานไร่และรู้ว่าท่าปล่อยปลา ปล่อยกบ ไปเสียแล้ว ทำให้บิดาท่านเกิดความโมโหและภาคทัณฑ์ไว้ว่า ถ้าปล่อยอีกจะถูกลงโทษ ต่อมาไม่นานบิดาของท่านไปดักไก่ป่ามาได้และขังเอาไว้ ท่านเข้าก็เกิดความสงสารจึงปล่อยไก่เข้าป่าไป ทำให้บิดาท่านโมโหมาก จึงลงมือทุบตีท่านหลายที แต่แปลกท่านกับยืนรับโทษทัณฑ์อย่างนิ่งเฉย ไม่ร้องไห้ ท่านยืนยอมรับความเจ็บปวดนั้นแต่ผู้เดียว ท่านถูกบิดาทำโทษหลายๆ ครั้งในระยะหลังนี้ก็เพราะท่านเมตตาสงสารสัตว์เหล่านั้น คุณพ่อเผือกเมื่อทำโทษลูกชายบ่อยๆ ลูกชายของท่านก็ไม่ยอมหลาบจำสักที ท่านจึงต้องยอมแพ้ เพราะถ้าตีต่อไปอาจจะเป็นอันตรายเปล่าๆ และท่านก็รู้นิสัยของลูกช่ายท่านดีว่าเป็นคนเด็ดเดี่ยว มีใจเมตตาปรานีต่อสัตว์ ยอมเจ็บตัวเพื่อแลกกับอิสรภาพของสัตว์ต่างๆ อีกทั้งคุณพ่อเผือกก็เกิดความสงสาร เมื่อท่านคิดได้ดังนั้น ท่านจึงเลิกทำโทษลูกชายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลวงพ่อทบในวัยรุ่นๆ นั้น ท่านมีเพื่อนมากมายทั้งในหมู่บ้านยางหัวลม และหมู่บ้านใกล้เคียง บางครั้งก็มักจะพากันมาเยี่ยมเยียนถามข่าวอยู่เสมอ บางคนก็มาชวนท่านให้ไปล่าสัตว์บ้าง ตกปลาหรือหว่านแหบ้าง บางคนก็มาชวนท่านไปเที่ยวสาวๆ บ้านใกล้เคียงบ้าง ซึ่งท่านในขณะนั้นกลับไม่ยินดียินร้ายแต่ประการใด คงได้แต่ปฏิเสธไป ท่านกลับชอบอยู่คนเดียวอย่างสงบ วันๆ ท่านก็เอาแต่เลี้ยงหมู หมา กา ไก่ ไปตามปกติ พอถึงวันพระท่านก็จะไปทำบุญตักบาตรที่วัดช้างเผือกเป็นประจำ เป็นที่ตื่นตาแก่เด็กวัยรุ่นโดยทั่วไป เพราะวัยรุ่นสมัยนั้นมีหลวงพ่อทบคนเดียวที่ชอบไปทำบุญเมื่อยังไม่แก่เฒ่า
ออกแสวงหาความรู้ เมื่อหลวงพ่อทบได้ศึกษาวิชาความรู้จากพระอาจารย์สีและพระอาจารย์ปานจนเจนจบครบถ้วนหมดแล้ว ท่านจึงเข้าไปกราบลาพระอาจารย์สี เพื่อที่จะไปแสวงหาความรู้ต่อไปอีก พระอาจารย์สีเห็นความเด็ดเดี่ยวและตั้งใจจริงของท่าน จึงกล่าวอนุญาตให้ไป พร้อมกันนี้พระอาจารย์สียังได้กล่าวฝากวัดช้างเผือกกับท่านอีกว่า “หากจะถึงวาระสุดท้ายของชีวิตแล้ว ก็ให้กลับมาพัฒนาวัดช้างเผือก อย่าปล่อยให้ร้างนะ” ซึ่งท่านก็รับคำ จากนั้นท่านก็ได้ออกเดินทางไปจำพรรษาที่ วัดวังโป่ง อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเวลาอีก 2 พรรษา พอออกพรรษาจึงคิดที่จะออกจาริกแสวงหาวิชาความรู้ไปในที่ต่างๆ ต่อไปอีก หลังจากที่หลวงพ่อทบได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะออกท่องเที่ยว เพื่อเสาะแสวงหาความรู้อย่างแน่นอนแล้ว หลวงพ่อทบซึ่งในระยะนั้นกิตติศัพท์ชื่อเสียงของท่านยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก ก็ได้ออกเดินทางจากวัดวังโป่งทันที โดยออกธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพรแต่เพียงรูปเดียว ในช่วงที่ท่านได้ออกเดินธุดงค์นี้ ท่านได้บำเพ็ญศีลและเจริญภาวนาพร้อมกับแสวงหาวิชา ศึกษาเวทมนตร์คาถาตามถ้า หน้าผา ผนังหินใหญ่ ที่มีผู้จาริกได้เขียนไว้ในสมัยก่อน บางครั้งท่านได้เดินไปตกหุบเขาที่ไม่มีบ้านเรือนคนอาศัยอยู่เลย ซึ่งต้องอาศัยดำรงชีพด้วยผลไม้หรือใบไม้เท่านั้นในการประทังความหิวโหย แต่ท่านก็ไม่ได้ย่อท้อคงพากเพียรที่จะได้ศึกษาวิชาอาคมอย่างไม่หยุดยั้ง เคยมีคนกราบนมัสการถามท่านว่า หลวงพ่อเดินธุดงค์ฉันของป่าไม่กลัวอันตรายหรือ ท่านตอบว่าก็ดูพวกสัตว์ต่างๆ มันกิน ก็ไม่เห็นมันเป็นอันตรายเลยนี่ นอกจากนี้หลวงพ่อทบยังเคยผจญกับโขลงช้างป่า ซึ่งกำลังมุ่งหน้ามายังทิศที่ท่านปักกลดภาวนาอยู่หลายครั้ง พอพวกมันเดินเข้ามาใกล้กลดของท่าน ก็จะมีจ่าโขลงออกมายืนบังกลดของท่านเอาไว้ ไม่ให้ช้างเชือกอื่นๆ เข้ามาใกล้กลดของท่านได้เลย
ผจญเสือสมิง ในป่าดงดิบมักจะมีสิ่งที่เราคาดไม่ถึง เช่น ผีป่า ผีโป่ง ผีกองกอย หรือเสือสมิง หลวงพ่อทบหลุดรอดมาได้ก็ด้วยการอาศัยเจริญเมตตาบารมีเป็นที่ตั้ง ทำให้ผีเหล่านั้นเกรงกลัวไม่กล้าเข้ามารบกวนท่านได้ ครั้งหนึ่งท่านได้เดินธุดงค์ผ่านไปพบกองกระดูกอยู่กับกองผ้าเหลืองเปื่อยๆ ผุๆ พร้อมกับกลดและบาตรที่สิ้นสภาพ หลวงพ่อทบจึงรู้ในขณะนั้นว่าพระธุงดงค์รูปที่มานอนมรณภาพอยู่ตรงหน้านี้ต้องอาบัติในธุดงค์วัตร มีวัตรอันไม่บริสุทธิ์ จึงต้องเอาชีวิตมาทิ้งไว้อย่างน่าอนาถ ท่านจึงได้รวบรวมผ้าเหลือง กระดูก กลด และบาตรเข้าด้วยกันแล้วนำไปฝังอย่างเรียบร้อย พร้อมกับสวดมาติกาบังสุกุลให้เป็นที่เรียบร้อยจึงตกลงใจปักกลดค้างคืนอยู่ที่ตรงนั้น พอตกดึกในคืนนั้นเอง ขณะที่ท่านกำลังทำสมาธิภาวนา พลันก็มีสิ่งแปลกปลอมเดินเข้ามาใกล้กลด กลิ่นสาบสางคละคลุ้งโชยเข้าจมูกแทบจะสำลัก หลวงพ่อทบยังคงนั่งสมาธิภาวนาอย่างแน่วแน่ ไม่ยอมขยับเขยื้อน เจ้าเสือพานกลอนขนาดใหญ่เห็นท่านไม่เกรงกลัวมัน มันจึงแยกเขี้ยวขู่คำรามอย่างดุร้ายหมายจะกัดกินท่านเป็นอาหาร ท่านจึงรวบรวมจิตแผ่เมตตาออกไปให้กับเสือ พร้อมปากก็พูดว่า “เอ็งหากินของเอ็ง ข้าก็ออกธุดงค์เพื่ออยู่ในทางธรรม เอ็งอาศัยสัตว์น้อยใหญ่ต่อชีวิต ข้าก็อาศัยภัตตาหารดำรงชีวิต เอ็งมาข้าก็ดีใจ ไม่มีอะไรก็นอนเสียเถิด” หลังจากกล่าวจบแล้ว หลวงพ่อทบก็น้อมชีวิตเป็นพุทธบูชา โดยอธิษฐานว่า หากเสือกับท่านมิได้เคยผูกพยาบาทอาฆาตจองเวรต่อกันในชาติปางก่อน ก็ขอให้เสือหลีกทางให้ ถ้าเคยผูกเวรกันมาก็ขอให้เอาท่านไปกินเพื่อชดใช้กรรม เป็นที่อัศจรรย์ปรากฏว่าเสือตัวนั้นหยุดคำราม และทำตามคำสั่งของท่านอย่างว่าง่าย เหมือนพูดกับนักเรียน มันลดความดุร้ายลง และค่อยๆ ล้มตัวลงนอนข้างๆ กลดของท่าน ส่วนท่านก็ได้เจริญสมาธิภาวนาจนรุ่งเช้า พอท่านลืมตาขึ้นมาดูอีกครั้ง ก็พบว่าเสือสมิงได้หายไปจากที่มันล้มตัวนอนเมื่อคืนนี้ คงเหลือแต่รอยเท้าของมันที่ทิ้งร่องรอยเอาไว้ หลังจากนั้นท่านก็ได้เดินธุดงค์ต่อไป จนกระทั่งได้พบกับพระธุดงค์อีกรูปหนึ่ง จึงได้ชักชวนกันเดินธุดงค์ไปจนทะลุถึงเขตชายแดนพม่า ณ ที่นั้นเอง หลวงพ่อทบและพระธุดงค์รูปนั้นก็ได้แสดงอภินิหารซึ่งกันและกัน และได้แลกเปลี่ยนวิทยาคม จนเป็นที่พอใจแล้วต่างก็แยกย้ายกันไปคนละทิศละทาง หลวงพ่อทบได้เดินธุดงค์ต่อไปจนถึงประเทศลาว ท่านได้เคยรู้จักคุ้นเคยกับพระเณรที่เวียงจันทร์หลายรูปด้วยกัน เมื่ออยู่ที่นครเวียงจันทร์ ท่านได้ช่วยเหลือพระเณรที่นั่นก่อสร้างสิ่งต่างๆ จนสำเร็จหลายแห่ง จนเป็นที่ชื่นชอบอัธยาศัยของพระเณรในเวียงจันทร์มาก ถึงกับนิมนต์ให้ท่านประจำวัดอยู่ด้วยกันตลอดไป แต่ท่านได้ปฏิเสธไป เพราะท่านยังมีภาระที่จะต้องทำอีกมาก เมื่อหลวงพ่อได้ปฏิเสธในการอยู่เวียงจันทร์แล้ว ท่านก็ได้เดินธุดงค์ออกจากเวียงจันทน์มุ่งหน้ามายังประเทศไทย ท่านเดินลัดเลาะจนมาถึงเขตชายแดนไทยติดต่อกับเขมรที่จังหวัดตราด ท่านได้เดินธุดงค์เข้าไปในเขตของเขมรต้องผจญกับพวกเขมรต่ำเจ้าแห่งอวิชชามนต์ไสยดำทั้งปวง ต้องกัน ต้องแก้ และทำลาย เรียกว่าไม่มีวิชาอาคมกล้าแข็งจริงๆ แล้ว ก็จะถูกพวกเขมรต่ำทดลองด้วยมนตร์ไสยดำ เช่น ยาสั่งบังฟันหรือบิดไส้ แต่ท่านก็สามารถเอาชนะพวกเดรัจฉานวิชาเหล่านี้ได้ ทำให้พวกเขาเหล่านั้นพากันศรัทธาในตัวท่านมาก นิมนต์ให้ท่านอยู่จำพรรษาในเขตแดนของเขมรตลอดไป แต่ท่านได้บอกปฏิเสธและได้เดินทางเข้าประเทศไทย ในที่สุดการเดินทางมหาธุดงค์แบบมาราธอนของหลวงพ่อทบก็สิ้นสุดลง จะเห็นได้ว่าท่านเดินด้วยเท้าเปล่าๆ ไปตามทางทุรกันดารแสนจะลำบากยากเข็ญ บางครั้งธุดงค์ไปในที่ห่างไกลหมู่บ้าน มีแต่ป่าดงดิบ และอาหารการกินก็ไม่มี ต้องฉันยอดไม้กับใบไม้แทนข้าว แต่ท่านก็ไม่เคยย่อท้อ ท่านได้เดินธุดงค์จากอำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ ไปถึงเขตชายแดนพม่าแล้วย้อนกลับไปประเทศลาว และสุดท้ายก็เข้าชายแดนเขมร นับว่าท่านได้เดินทางด้วยเท้าเปล่าหลายพันกิโลเมตร
กลับมาตุภูมิ หลวงพ่อทบได้เดินธุดงค์รอนแรมไปเป็นเวลานานๆ จนกระทั่งท่านเห็นว่าสมควรแก่เวลา และวิชาอาคมที่ท่านได้รับมานี้ก็พอที่จะนำไปสงเคราะห์ให้กับชาวบ้านญาติโยมผู้ยากไร้ได้แล้ว อีกทั้งท่านก็จะได้กลับไปประกอบศาสนกิจอุทิศตนเป็นพุทธบูชายังดินแดนที่ท่านได้ถือกำเนิด เพื่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง เป็นมิ่งมงคลต่อบวรพระพุทธศาสนา เมื่อคิดได้ดังนั้นท่านจึงได้ออกเดินทางจากชายแดนเขมร โดยมีจุดมุ่งหมายปลายทางคือ วัดศิลาโมง ตำบลนายม อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อท่านได้มาจำพรรษาที่วัดแห่งนี้แล้ว ท่านได้ทำการบูรณะวัดครั้งใหญ่ มีการสร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ขุดบ่อน้ำ ที่สำคัญท่านได้ทำการก่อสร้างพระอุโบสถขึ้นจนสำเร็จ ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ดีจนทุกวันนี้
เรียนวิชากับหลวงปู่ศุข หลังจากที่หลวงพ่อทบได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดศิลาโมงแล้ว ท่านยังคงตั้งใจที่จะแสวงหาวิชาความรู้อยู่อย่างไม่หยุดยั้ง เมื่อท่านทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดศิลาโมงเข้าที่เข้าทางแล้ว ท่านได้ยินชื่อเสียงเกียรติคุณของ พระครูวิมลคุณากร หรือ หลวงปู่ศุข แห่งวัดปากคลองมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ว่าเป็นผู้สำเร็จวิชา 8 ประการ ซึ่งมีน้อยองค์นักที่จะสำเร็จได้ ท่านจึงได้เดินธุดงค์ออกจากวัดศิลาโมง มุ่งหน้าไปที่จังหวัดชัยนาท ในที่สุดท่านก็ได้กราบนมัสการหลวงปู่ศุขสมความปรารถนา และที่วัดปากคลองมะขามเฒ่านี้เอง ท่านก็ได้พบกับพระเกจิอาจารย์อีก 2 รูปที่ได้เดินทางมากราบนมัสการหลวงปู่ศุข เพื่อขอเรียนวิชาก่อนหน้าที่ท่านจะมาคือ 1. หลวงพ่อเอีย วัดบ้านด่าน 2.หลวงพ่อหน่าย วัดบ้านแจ้งการเรียนวิชาจากหลวงปู่ศุขนั้นก่อนที่ท่านจะมอบวิชาอาคมอะไรก็ตามให้กับศิษย์นั้น ท่านจะทดสอบพลังจิตของศิษย์แต่ละองค์เสียก่อนว่ามีความกล้าแข็งสักเพียงใด จากนั้นจะถามถึง วัน เดือน ปี เกิด ของแต่ละองค์เสียก่อน ซึ่งการที่ท่านต้องทดสอบและไต่ถามก็เพื่อท่านจะได้ทราบถึงความสามารถ วาสนา บารมีของแต่ละองค์ ว่ามีมากน้อยเพียงใด ควรจะมอบวิชาอะไรให้ถึงจะเหมาะสมที่สุด ซึ่งหลวงปู่ศุขท่านก็ได้มีเมตตา มอบวิชาอาคมต่างๆ ให้กับหลวงพ่อทบหลายอย่าง ซึ่งท่านก็ได้ใช้วิชาเหล่านั้นสงเคราะห์ญาติโยมมาตลอดชีวิตของท่าน
มอบตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อเง่า หลังจากที่หลวงพ่อทบได้กลับจากการธุดงค์ไปกราบนมัสการท่านพระครูวิมลคุณากรหรือหลวงปุ่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งหลวงพ่อทบก็ได้เดินธุดงค์กลับมาจำพรรษาที่วัดศิลาโมงตามเดิม หลังจากนั้นในระหว่างปี พ.ศ. 2461-พ.ศ.2468 หลังจากการออกพรรษาทุกปี ท่านได้ใช้เวลาในช่วงนี้เดินทางไปกราบนมัสการขอเรียนวิชาอาคมเพิ่มเติมกับ ท่านพระครูสังวรธรรมคุต หรือ หลวงพ่อเง่า พระเถระผู้เฒ่า อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีภูมิ(วัดบ้านติ้ว) และอดีตเจ้าคณะจังหวัดหล่มสัก ซึ่งท่านก็ได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อเง่า และหลวงพ่อเง่าได้มีความเมตตาถ่ายทอดพระเวทวิทยาคมให้กับท่านอย่างไม่มีปิดบังอำพราง ไม่ว่าจะเป็นทางเมตตามหานิยม แคล้วคลาด คงกระพัน มหาอุด มหาอำนาจ กำบัง ล่องหนหายตัว ซึ่งท่านก็ใช้เวลาหลังออกพรรษาถึง
3 ปี จึงได้เล่าเรียนจนสำเร็จ
พัฒนาวัดต่างๆ ภายหลังจากที่หลวงพ่อทบได้ไปเรียนพระเวทวิทยาคมจากหลวงพ่อเง่าแล้ว ท่านเห็นว่าวิชาอาคมของท่านนั้นได้เรียนเอาไว้มากแล้ว สมควรที่จะช่วยเหลือสงเคราะห์ญาติโยมผู้ตกทุกข์ได้ยาก ตลอดจนพัฒนาวัดวาอารามในท้องถิ่นแถบนี้ให้เจริญขึ้นมาให้ได้ ท่านจึงได้ยุติการเดินธุดงค์เอาไว้ก่อน และได้ใช้เวลาเท่าที่มีอยู่ทั้งหมดสงเคราะห์ญาติโยม และได้สร้างถาวรวัตถุในบวรพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาให้ได้ โดยท่านได้สร้างพระอุโบสถให้กับวัดต่างๆ ถึง 16 หลัง พอถึงหลังที่ 17 ท่านได้วางเพียงศิลาฤกษ์เท่านั้น ท่านก็มามรณภาพเสียก่อน ในขณะที่ท่านกำลังพัฒนาวัดวาต่างๆ นั้น ท่านได้รับการแต่งตั้งจากคณะสงฆ์ให้เป็นพระคู่สวดเมื่อปี พ.ศ.2455 ท่านอายุได้ 29 ปี พรรษา 9 ตอนนั้นท่านกลับมาจากการเดินธุดงค์และจำพรรษาที่วัดศิลาโมง พอถึงปี พ.ศ.2490 ท่านอายุได้ 66 ปี พรรษา 45 ท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ และพอถึงปี พ.ศ.2497 ท่านมีอายุได้ 73 ปี พรรษา 53 ท่านก็ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์เป็นเจ้าคณะอำเภอชนแดน และได้รับการสถาปนาจากกรมการศาสนาเป็น พระครูวิชิตพัชราจารย์
อุปนิสัยของหลวงพ่อทบ หลวงพ่อทบ ท่านมีรูปร่างเล็กแกร่ง นิ้วมือของท่านเรียวงาม ฝ่ามืออ่อนนุ่ม ยามเมื่อท่านลูบหัวศิษย์จะรู้สึกว่า นุ่มประดุจฝ่ามือของบิดามารดาถนอมบุตรกระนั้น หลวงพ่อทบเป็นพระเถระที่พูดน้อยไม่ค่อยจะช่างคุย ถามคำท่านก็ตอบคำมิได้เสแสร้ง แต่ท่านได้สำรวมมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว นัตย์ตาของท่านมีประกายแวววาวแสดงถึงความมีอำนาจทุกคนที่เคยไปกราบนมัสการท่านจะบอกเป็นเสียงด้วยกันว่า นัตน์ตาของท่านมีมหาอำนาจและไม่กล้าสบตากับท่านตรงๆ แต่ว่าในความมีอำนาจนั้นจะแฝงแววแห่งความเมตตาเอาไว้ด้วย ในการต้อนรับแขกที่เดินทางไปกราบนมัสการท่านในแต่ละวันนั้น ท่านจะตอนรับอย่างเสมอภาคกัน ไม่เคยเลือกฐานะหรือความคุ้นเคยเป็นหลักแม้แต่น้อย ใครมาก่อนพบก่อน ใครมาทีหลังพบทีหลัง คนรวยคนจนในสายตาของท่านก็คือคนเหมือนกัน ถ้าท่านสงเคราะห์ได้ท่านก็จะรีบสงเคราะห์ให้ด้วยความเต็มใจ ไม่เคยเห่อเหิมในยศฐาบรรดาศักดิ์ ท่านถือว่าลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นโลกธรรม แม้สมณศักดิ์ที่ได้รับมาท่านก็คงวางเฉยไม่ยินดียินร้าย ท่านยังคงเป็นหลวงพ่อทบ หรือพระอธิการทบธรรมดาๆ ท่านเคยอยู่อย่างไร ท่านก็อยู่อย่างนั้น ทรัพย์สินเงินทองที่เขาถวายท่านมา ท่านก็นำไปลงทุนไว้ในพระพุทธศาสนาจนหมดสิ้น เมื่อท่านถึงกาลมรณภาพก็ไม่มีทรัพย์สินอะไรที่มีค่าพอจะเอามาประกอบพิธีศพของท่านได้ เป็นที่ซาบซึ้งของบรรดาศิษยานุศิษย์เป็นอันมาก ในความมักน้อยสมถะของท่าน อีกประการหนึ่งที่ท่านได้สั่งสอนอบรมอยู่เสมอนั่นก็คือ ความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ เพราะท่านเองนั้นได้ทำเป็นตัวอย่างแกศิษยานุศิษย์ ก็คือ ท่านได้มีความกตัญญูต่อบรรดาพระอาจารย์ของท่านที่ล่วงลับไปแล้ว โดยท่านทำบุญกุศลถวายอยู่เป็นประจำทุกปี ในเวลาว่างถ้าหากท่านได้สนทนากับลูกศิษย์เป็นที่ถูกคอแล้ว ท่านมักจะเอ่ยถึงนามพระอาจารย์ของท่านให้ศิษย์ฟังอยู่เสมอ เช่น หลวงปู่ศุข เก่งอย่างนั้น หลวงพ่อเง่าท่านเก่งอย่างนี้ พระอาจารย์สีกับพระอาจารย์ปานเก่งไปอีกอย่างหนึ่ง เป็นต้น ซึ่งนามของพระอาจารย์ของท่านที่ท่านเอ่ยออกมาเป็นการยกย่องไว้เหนือเกล้า ไม่มีการลบหลู่ดูหมิ่นเป็นอันขาด ปากของท่านก็มีประกาศิตเหมือนปากของพระร่วงเลยทีเดียว พูดคำไหนเป็นคำนั้น ให้พรใครคนนั้นก็เจริญก้าวหน้า ถ้าเผลอสาปแช่งหรือดุด่าก็จะเป็นไปตามปากของท่านทุกประการ นับว่าน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก เป็นที่เลื่องลือและกล่าวขานกันมาก ในระหว่างที่ท่านยังมีชีวิตอยู่จึงมีคนเดินทางไปขอพรท่านอย่างเนืองแน่นทุกวันมิได้ขาด
รับตำแหน่งเจ้าอาวาส ภายหลังจากที่หลวงพ่อทบได้กลับมาจากการเดินธุดงค์แล้ว ท่านก็ได้เดินทางมาจำพรรษาที่วัดศิลาโมงเรื่อยมา หลวงพ่อทบท่านจำพรรษาที่วัดศิลาโมง ขณะนั้นท่านอยู่ในฐานะพระลูกวัดธรรมดา ถึงแม้ว่าท่านจะเป็นพระลูกวัดธรรมดา ท่านก็เป็นผู้นำในการก่อสร้างถาวรวัตถุหลายอย่างในวัดศิลาโมง จนเจริญรุ่งเรืองกว่าวัดอื่นๆ ในละแวกเดียวกัน พอถึงปี พ.ศ.2466 หลวงพ่อทบ จึงได้ย้ายไปจำพรรษาที่ วัดเสาธงทอง ตำบลนายม อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งก็อยู่ห่างจากวัดศิลาโมงออกไปเล็กน้อยเมื่อท่านมาจำพรรษที่วัดเสาธงทอง ซึ่งในขณะนั้นมี พระอธิการย่อง เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ช่วยพัฒนาวัดเสาธงทองให้เจริญรุ่งเรืองจนผิดหูผิดตาเลยทีเดียว พอดีเจ้าอาวาสวัดเกาะแก้ว ตำบลนายม อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ว่างมานาน ทางคณะสงฆ์จึงแต่งตั้งให้หลวงพ่อทบเป็นเจ้าอาวาสวัดเกาะแก้วเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2472 จากนั้นเป็นต้นมาท่านก็เป็นเจ้าอาวาสวัดต่างๆ ตามลำดับดังนี้
1. พ.ศ. 2472 – 2479 เป็นเจ้าอาวาสวัดเกาะแก้ว
2. พ.ศ. 2476 – 2478 เป็นเจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง
3. พ.ศ. 2479 – 2499 เป็นเจ้าอาวาสวัดสว่างอรุณ
4. พ.ศ. 2480 – 2497 เป็นเจ้าอาวาสวัดศิลาโมง
5. พ.ศ. 2500 – 2519 เป็นเจ้าอาวาสวัดชนแดนตามข้อมูลข้างบนนี้ จะเห็นว่าทางราชการและคณะสงฆ์มองเห็นความสำคัญของท่าน จึงได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดต่างๆ หลายวัด บางวัดก็แต่งตั้งให้ท่านรักษาการเจ้าอาวาสไปก่อน รอจนกว่าจะมีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสตัวจริง เราจะเห็นว่าหลวงพ่อทบทำงานหนักมาก
ต่อไปจะเป็นประวัติของวัดต่างๆ ที่หลวงพ่อทบเคยไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเกาะแก้ว วัดเกาะแก้ว หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า วัดเกาะ ตั้งอยู่เลขที่ 106 บ้านนายม ตำบลนายม อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดจำนวน 18 ไร่ 93 ตารางวา อาณาเขตทิศเหนือ 87 ตารางว่า ติดต่อกับลำคลองวังชมภู ตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 585 พื้นที่วัดเป็นที่ราบ มีลำคลองและทางสาธารณะล้อมรอบ อาคารเสนาสนะต่างๆ มีพระอุโบสถกว้าง 11 เมตร ยาว 13.20 เมตร สร้างมาแต่โบราณ ศาลาการเปรียญ 1 หลัง สร้างเมื่อ พ.ศ.2520 กุฏิสงฆ์มีจำนวน 2 หลังเป็นอาคารไม้ สำหรับปูชนียวัตถุมีพระประธานในอุโบสถ ปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่มาก และมีเจดีย์ 7 องค์ กล่าวกันว่าสร้างมาแต่สมัยลพบุรี วัดเกาะแก้วเดิมเป็นวัดที่สร้างขึ้นมานานก่อนสมัยสุโขทัย แต่คงจะทรุดโทรมลงบ้างตามกาลเวลา และได้มีการบูรณะก่อสร้างให้เป็นวัดที่มั่นคงนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2398 เป็นต้นมา หลวงพ่อทบได้มาเป็นเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ. 2472-2479
วัดเสาธงทอง วัดเสาธงทอง หมู่ที่ 4 ตำบลนายม อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดจำนวน 40 ไร่ อาณาเขต ทิศเหนือยาว 4 เส้น ติดต่อกับวังชมภู ทิศใต้ยาว 4 เส้น ติดต่อกับถนนหลวง ทิศตะวันออกยาว 10 เส้น ติดต่อกับหมู่บ้าน ทิศตะวันตกยาว 10 เส้น ติดต่อกับวัดร้าง ซึ่งมี น.ส. 3 ก. เป็นหลักฐาน พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบ อาคารเสนาสนะต่างๆ มีพระอุโบสถกว้าง 8.40 เมตร ยาว 9.55 เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.2519 โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กศาลาการเปรียญกว้าง 16.40 เมตร ยาว 28.90 เมตร สร้างปี 2510 กุฏิมีจำนวน 13 หลัง เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ สำหรับปูชนียวัตถุมีพระประธานในพระอุโบสถ พระพุทธรูปปางห้ามญาติ และพระมหากัจจายนะ วัดเสาธงทอง เดิมเป็นวัดที่สร้างมานานกว่า 700 ปี ต่อมาได้ชำรุดทรุดโทรมลง และได้มีการสร้างให้เป็นวัดขึ้นอีก ประมาณปี พ.ศ.2387 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2519 หลวงพ่อทบท่านได้มาเป็นเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ.2476-2478
วัดสว่างอรุณ วัดสว่างอรุณ หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า วัดใน ตั้งอยู่เลขที่ 88 ในหมู่บ้านชนแดน หมู่ที่ 1 ตำบลชนแดน อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดจำนวน 8 ไร่ 1 งาน 10 ตารางวา อาณาเขต ทิศเหนือยาว 80 วา ติดต่อกับถนนสาธารณะ ทิศใต้ยาว 75 วา ติดต่อกับหมู่บ้านชนแดน ทิศตะวันออกยาว 29 วา ติดต่อกับที่ดินนายอัง ทิศตะวันตกยาว 60 วา ติดต่อกับถนนสาธารณะ พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่ม สภาพแวดล้อมเป็นทุ่งนาและหมู่บ้าน อาคารเสนาสนะต่างๆ มีพระอุโบสถกล้าง 6 เมตร ยาว 11 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.2384 ศาลาการเปรียญกล้วง 12 เมตร ยาว 20 เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.2482 หอสวดมนต์กว้าง 6 เมตร ยาว 10 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.2524 เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว กุฏิสงฆ์จำนวน 3 หลัง สำหรับปูชนียวัตถุมีพระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปั้น วัดสว่างอรุณสร้างขึ้นเป็นวันนับตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.2451 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในปี พ.ศ.2455 มีพระภิกษุจำพรรษาอยู่ 8 รูป สามเณร 4 รูป ทางวัดได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมที่วัดนี้ และใช้เป็นที่สอบธรรมสนามหลวงด้วย หลวงพ่อทบได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดสว่างอรุณ เมื่อ พ.ศ.2479-2499
วัดศิลาโมง วัดศิลาโมง ตั้งอยู่เลขที่ 170 บ้านยางหัวลม หมู่ที่ 8 ตำบลวังชมภู อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 11 ไร่ 60 ตารางวา อาณาเขตทิศเหนือยาว 100 เมตร ติดต่อกับทางสาธารณะ ทิศใต้ยาว 150 เมตร ติดต่อกับทางสาธารณะ ทิศตะวันออกยาว 200 เมตร ติดต่อกับที่ดินของนายป้อม ทัพมีบุญ และทางสาธารณะ ทิศตะวันตกยาว 75 เมตร ติดต่อกับทางสาธารณะ ตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 112 พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่มอยู่ท่ามกลางหมู่บ้าน อาคารเสนาสนะต่างๆ มีพระอุโบสถกว้าง 6 เมตร ยาว 9 เมตร สร้างประมาณ พ.ศ.2450 ศาลาการเปรียญ กว้าง 12 เมตร ยาว 15 เมตร สร้าง พ.ศ.2522 หอสวดมนต์กว้าง 4 เมตร ยาว 8 เมตร สร้าง พ.ศ.&n
วันที่เขียนบทความ: 03/01/2025 เวลา: 10:59:51 น.
วันที่ปรับปรุงบทความ: 03/01/2025 เวลา: 06:45:20 น.
กลับหน้าบทความ